วิลเลียม ชอกลีย์ (William Bradford Shockley) (13 กุมภาพันธ์, พ.ศ. 2453 - 12 สิงหาคม พ.ศ. 2532) นักฟิสิกส์และนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษสัญชาติอเมริกันผู้ร่วมค้นคิดและประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์
ชอกลีย์ ร่วมกับ จอห์น บาร์ดีน และ วอลเตอร์ เฮาเซอร์ แบรตเตน ได้ประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้นักประดิษฐ์ทั้งสามคนได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี พ.ศ. 2499 ความพยายามของชอกลีย์ในการผลิตทรานซิสเตอร์ทางการค้าระหว่างช่วง พ.ศ. 2493 - พ.ศ. 2512 ทำให้เกิด “ซิลิคอนแวลเลย์” ขึ้นที่รัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งกลายเป็น “ดง” แห่งนวัตกรรมทางอีเลกทรอนิกส์ดังที่เห็นในปัจจุบัน ในช่วงชีวิตหลังๆ ชอกลีย์หันกลับมาทางด้านการศึกษาและวิจัยโดยเข้าเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและต่อมากลายเป็นผู้สนับสนุนด้านสุพันธุศาสตร์ (eugenics) หรือวิชาว่าด้วยการบำรุงพันธุ์มนุษย์อย่างแข็งขัน
วิลเลียม ชอกลีย์เกิดในลอนดอนมีบิดามารดาเป็นชาวอเมริกันและเติบโตในแคลิฟอร์เนีย ได้ปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิตจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียเมื่อ พ.ศ. 2475 ขณะเป็นนักศึกษาชอกลีย์แต่งานกับ ยีน เบลีย์ ชาวไอโอวาเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2476 และมีบุตรสาว 1 คนในปีต่อมา ชอกลีย์ได้ปริญญาเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์เมื่อ พ.ศ. 2479 โดยทำวิทยานิพนธ์ชื่อ “แถบอิเลกทรอนิกส์ในเกลือแกง” (Electronic Bands in Sodium Chloride) ซึ่งได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาชื่อ จอห์น สเลเตอร์ หลังได้ปริญญาเอก ชอกลีย์ได้เข้าทำงานร่วมกับ คลินตัน เดวิสสัน หัวหน้าทีมที่หอทดลลองเบลล์ในนิวเจอร์ซีย์ ในปี พ.ศ. 2481 ก็ได้รับสิทธิบัตรฉบับแรกจากการจดลิขสิทธิ์เรื่อง “อุปกรณ์ปล่อยประจุอิเล็กตรอน” ในเครื่องเพิ่มอิเล็กตรอน